คุณธรรมพื้นฐานเรื่องสามัคคีมีความสำคัญอย่างไร?
ในการดำเนินชีวิตของเรา ย่อมต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง เพื่อนร่วมงาน ร่วมชุมชน ตลอดจนพี่น้องร่วมครอบครัว จะเกิดเป็นความสัมพันธ์อันดีหรือที่เรียกว่า ความสามัคคี ได้นั้น ต้องอาศัยเหตุที่เรียกว่า สาราณียธรรม หรือธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน มี 6 ประการ นั่นคือ
- เมตตากายกรรม หรือ ทำต่อกันด้วยเมตตา คือ แสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อน ต่อผู้อื่นด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
- เมตตาวจีกรรม หรือ พูดต่อกันด้วยเมตตา คือ ช่วยบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
- เมตตานโนกรรม หรือ คิดต่อกันด้วยเมตตา คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน
- สาธารณโภคี หรือ ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือ แบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน
- สีลสามัญญตา หรือ ประพฤติให้ดีเหมือนเขา คือ มีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวม ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือทำความเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ
- ทิฏฐิสามัญญตา หรือ ปรับความเห็นเข้ากันได้ คือ เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน
ธรรมทั้ง 6 ประการนี้ อันได้แก่ ทำ-พูด-คิดต่อกันด้วยเมตตา มีน้ำใจ แบ่งปัน ประพฤติสุจริต รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สามารถเคารพนับถือกัน ช่วยเหลือดูแลกัน มีความพร้อมเพรียง มีความร่วมมือ ผนึกกำลังกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หากเราทุกคนได้ปฏิบัติ ก็จะเกิดเป็นคุณค่าที่จะก่อให้เกิดความสามัคคีในการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดีและมีความสงบสุข ปลอดภัย อันเป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนปรารถนา
ที่มา http://taamkru.com/th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น